นกกระสา

นกกระสาขาว

  • นกกระสาขาว
เป็นนกขนาดใหญ่ มีขนาดตั้งแต่ความยาวประมาณ 1 เมตร หนัก 2.5 - 4.5 กิโลกรัม ปาก ลำคอ และขายาว ปากยาวแหลม ตรงสีแดง คอ อก ท้อง และก้นสีขาว ลำตัวตอนท้ายด้านบนสีดำ ครึ่งปีกด้านหน้าสีขาว ด้านหลังสีดำ ปลายหางตอนบนสีดำ ตอน ล่างสีขาว ขาสีแดง ขณะบินจะยืดหัวและคอตรงไปข้างหน้า จะยืดขาตรงไปข้างหลัง เหนือระดับหางเล็กน้อย เมื่อบินเป็นกลุ่มจะบิน อย่างไม่เป็นระเบียบ ปีกตีลมเสียงดังมาก หากินเป็นฝูง การหาเหยื่อจะก้าวเดินไปในแหล่งน้ำที่ไม่ลึกนัก ใช้ปากจิกหาเหยื่อในน้ำ ผสมพันธุ์เมื่ออายุ 3 - 4 ปี ทั้งตัวผู้และตัวเมียจะช่วยกันสร้างรังบนคาคบไม้สูง วางไข่คราวละ 3 - 5 ฟอง กลางวันทั้งตัวผู้และตัวเมีย จะผลัดกันกกไข่ ส่วนกลางคืนตัวเมียจะกก ใช้เวลาฟักประมาณ 33 วัน เคยพบที่นครปฐม ปัจจุบันเข้าใจว่าใกล้จะสูญพันธุ์จากประเทศไทย

นกกระสาคอดำ

  • นกกระสาคอดำ
เป็นนกขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทย และใหญ่เป็นที่สองของโลก ยาวประมาณ 1.35 เมตร สูงประมาณ 1.70 เมตร น้ำหนัก 3 - 5 กิโลกรัม ปากใหญ่ปลายแหลมสีดำ หัวและคอสีดำเหลือบเขียว กลางกระหม่อมสีเหลือบม่วง ขนบนหลังและโคนปีกตอนหน้า สีขาว ตอนหลังถึงหางสีดำ อก ท้อง และโคนขาสีขาว ขายาวสีแดง ตัวผู้ตาสีน้ำตาล ตัวเมียตาสีเหลือง ขณะบินมีลักษณะเช่นเดียวกับ นกกระสาขาว คือ ปาก หัว ลำตัว หาง และขา เหยียดเป็นเส้นตรง มักอยู่ตามลำพังหรืออยู่เป็นกลุ่มเล็ก ๆ พ่อ แม่ ลูก หากินตามแม่น้ำ ทุ่งนา หนองน้ำ ขณะจับเหยื่อจะกระโดดกางปีก และวิ่ง สลับฟันปลาเพื่อไล่เหยื่อ แล้วใช้ปากงับ ในฤดูผสมพันธุ์จะจับคู่กัน และมีการต่อสู้แบ่งเขตกัน ทั้งคู่ตัวผู้และตัวเมียจะช่วยกันทำรังบนยอดไม้ ซึ่งสูงจากพื้นดิน 20 - 25 เมตร วางไข่ครั้งละ 3 - 5 ฟอง ทั้งคู่ผลัดกันกก นานประมาณ 33 วัน พบในทุกภาค เว้นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปัจจุบันมีเหลืออยู่น้อยมาก

นกกระสาแดง

  • นกกระสาแดง
เป็นนกยางขนาดใหญ่ ยาวประมาณ 1 เมตร ปากยาวสีเหลือง ปลายแหลมและตรง หัวสีน้ำตาลอมเหลือง ด้านบนสีดำ ท้ายทอยมีเปียสีดำ ห้อยอยู่ 2 - 3 เส้น ขนใต้คางขาว คอยาวสีน้ำตาลแดงและงออยู่ตลอดเวลา มีเส้นดำพาดจากหัวมาถึงฐานคอ ตามแนวกึ่งกลางลำคอ จากมุมปาก พาดใต้ตาถึงท้ายทอย อีกเส้นหนึ่งพาดจากมุมปาก มาตามความยาวด้านข้าง ของลำคอถึงฐาน คอด้านหน้า ที่ฐานคอมีพู่ขนสีขาว และสีน้ำตาลห้อยอยู่ ในฤดูผสมพันธุ์พู่ขนนี้จะมีสีเข้มขึ้น ลำตัวตอนบนปีก อก และท้อง สีเทาอม ดำ นิ้วตีนยาวมาก สามารถเกาะจับลำต้นพืชใต้น้ำมั่นคง มักไม่เดินบนบก ส่วนใหญ่จะยืนหรือเกาะอยู่นิ่ง ๆ ออกหากินเวลาเช้าและพลบค่ำ ตามพงอ้อ หรือกอหญ้าสูง ๆ ริมหนอง คลองบึง การหาเหยื่อจะค่อย ๆ ย่างไปตามชายน้ำ แล้วยืนนิ่งรอจนเหยื่อเข้ามาใกล้ แล้วจึงจิกฉกอย่างเร็วและแรง ให้ปากเสียบติดเหยื่อและสะบัดเหยื่อลงบนพื้น ใช้ปากงับจนตาย ก่อนกลืนกิน เป็นนกที่มักอยู่ตัวเดียว ยกเว้นในฤดูผสมพันธุ์จะจับคู่ และทำรังในพงอ้อ พงพืชน้ำสูง ๆ หรือต้นไม้สูงใกล้ชายน้ำ วางไข่ครั้ง ละ 3 - 5 ฟอง ทั้งคู่ผลัดกันกกไข่ ใช้เวลาฟักประมาณ 33 วัน พบในทุกภาค ยกเว้นตอนกลางของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

นกกระสานวล

  • นกกระสานวล
เป็นนกยางขนาดใหญ่ ยาวประมาณ 1 เมตร ปากยาวสีเหลือง ปลายแหลมตรง ตาสีเหลือง กลางกระหม่อมสีขาว ด้านข้าง สีดำ ข้างกระหม่อมมีเปีย 2 - 3 เส้น ห้อยไปที่ท้ายทอย ที่ฐานคอมีพู่ขนสีขาวห้อยอยู่ ท้อง โคนขา หัว ปีก และก้น สีขาว ท้องส่วนที่ ติดกับโคนขาด้านใน และหัวไหล่สีดำ ปีกและหางสีเทา มักจับคู่และอยู่รวมกันเป็นฝูง ทำรังบนต้นไม้หรือกอไม้น้ำ หากินตามชายน้ำ แม่น้ำ ลำคลอง ในฤดูผสมพันธุ์ตัวผู้จะบินนำ ไปยังถิ่นที่เคยผสมพันธุ์ ตัวที่ไปถึงก่อนจะเลือกรังเก่าที่มีอยู่แล้ว ถ้าไม่มีจึงสร้างใหม่ เมื่อได้รังแล้วตัวผู้จะส่งเสียงร้องติดต่อกัน เพื่อเรียกตัวเมีย โดยทำอาการย่อขา งอคอ ให้ปากตั้งฉากกับหลัง แล้วค่อย ๆ ยืดคอตั้งตรง พร้อมกับส่งเสียงและขบปากให้กระทบ กัน จนตัวเมียได้ยินและบินเข้ามาที่รัง วางไข่ครั้งละ 3 - 5 ฟอง ทั้งคู่ผลัดกันกกไข่นานประมาณ 30 วัน เมื่อลูกนกอายุประมาณ 21 วัน จะเกิดการแย่งที่อยู่กัน ตัวที่อ่อนแอจะถูกเบียดตกจากรังตาย ดังนั้น ในรังหนึ่ง ๆ จะมีลูกนกเหลือรอดอยู่เพียง 3 ตัว ลูกนกหัด บินเมื่ออายุประมาณ 30 วัน ทิ้งรังเมื่ออายุ 1.5 - 2 ปี อายุนก 18 - 24 ปี พบทุกภาค ยกเว้นภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง

นกกระสาใหญ่

  • นกกระสาใหญ่
เป็นนกยางขนาดใหญ่ ยาวประมาณ 1.15 เมตร ปากยาวสีเทา ปลายแหลมตรง ใต้จงอยปากล่างสีขาว ตาสีเหลือง บริเวณ ท้ายทอยมีขนสั้น ๆ สีขาวปนเทาประมาณ 10 เส้น เป็นพู่ชี้ไปข้างหลัง เมื่อตกใจหรือเข้าต่อสู้กัน พู่นี้จะพองขึ้น คอยาวสีน้ำตาล ด้านหน้ามีพู่ขนสีน้ำตาลห้อยระย้าลงมา เกือบถึงอก ลำตัวตอนบนและปีกสีเทาอมน้ำตาล บริเวณหลังมีขนนุ่มบาง สีขาวปกคลุมพลิ้วอยู่บริเวณหลัง ลำตัวตอนล่างสีน้ำตาล ขาสั้น ใหญ่ แข็งแรง สีเทา หางสั้นสีเทา นกชนิดนี้อยู่ตามลำพังหรืออยู่เป็นคู่ หากินบริเวณน้ำตื้นตามชายฝั่งทะเลหรือแม่น้ำที่มีพืชน้ำอยู่ เช่น ป่าชายเลน บริเวณปาก แม่น้ำ กินปลา สัตว์น้ำขนาดเล็ก กบ เขียด ทั้งคู่ช่วยกันสร้างรัง วางไข่ตรั้งละ 3 - 5 ฟอง ผลัดกันกกไข่ประมาณ 55 วัน ลูกนกอายุ ประมาณ 35 วัน จึงเริ่มหัดบิน และจะออกหากินเองได้เมื่ออายุประมาณ 2 เดือน พบตามชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก และภาคใต้ ปัจจุบันมีจำนวนน้อยมาก

หน้าหลัก

ถัดไป


AmPol PeachThong : Suratthani